ซูมิโน โคเกียว ลงนามร่วมทุนกับ อาปิโก ไฮเทค เพื่อขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย

ซูมิโน โคเกียว ซึ่งมีฐานการผลิตที่ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น มีลูกค้าหลักได้แก่ MAZDA ได้ตั้งทีมงานร่วมกับ อาปิโก ไฮเทค เพื่อทำการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนสำหรับผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย

ประเทศไทยได้กลายเป็นจุดหมายหลักหนึ่งของผู้ผลิตรถยนต์จากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในประเทศจากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและแรงงานที่มีฝีมือ โดยปัจจุบันจำนวนรุ่นรถยนต์ที่ทำการผลิตในประเทศไทยได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งรวมถึงการเป็นฐานการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ ได้มีการขยายการลงทุนติดตามผู้ผลิตรถยนต์ไปในต่างประเทศ โดย MAZDA เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หนึ่งที่ได้เริ่มมีการย้ายการผลิตรถยนต์บางรุ่นเข้ามาผลิตในประเทศไทย ซึ่งทำให้ ซูมิโน โคเกียว ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยการลงทุนในครั้งนี้จะเป็นการร่วมลงทุนกับ อาปิโก ไฮเทค มีสัดส่วนการร่วมทุนเท่ากับ 51%/49% สำหรับ ซูมิโน โคเกียว และ อาปิโก ไฮเทค ตามลำดับ

จากการที่ ซูมิโน โคเกียว ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นเวลานานและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ MAZDA โดยบริษัทจะใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีคุณภาพสูงและทนทาน ในขณะที่ อาปิโก ไฮเทค จะใช้ความชำนาญในประเทศทำหน้าที่สนับสนุนบริหารจัดการในการขาย, การตลาด, โลจิสติกส์ ในบริษัทร่วมทุนใหม่นี้ ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนคิดเป็นประมาณ 600 ล้านบาท โดยโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และมีแผนเริ่มการผลิตในช่วงต้นปี 2557 อนึ่ง เมื่อพิจารณาธุรกิจหลักในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของ อาปิโก ไฮเทค รวมกับความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ยาวในนานของ ซูมิโน โคเกียว ทำให้เชื่อมั่นว่าบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะสามารถเติบโตในอุตสาหกรรมได้ดีในอนาคต

ซูมิโน โคเกียว เริ่มก่อตั้งธุรกิจโดยเริ่มจากการผลิตเข็มกลัดสำหรับถุงเท้าในชุดกิโมโน และต่อมาได้เริ่มธุรกิจผลิตชิ้นส่วนปั๊มขึ้นรูป โดยปัจจุบันบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 3,000 ชิ้น ส่งให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำหลัก โดยมีลูกค้าหลักได้แก่ MAZDA, Sumitomo Wiring Sytems, JTEKT Corporation เป็นต้น

อาปิโก ไฮเทค เป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2545 ดำเนินธุรกิจออกแบบผลิตและติดตั้งอุปกรณ์จับยึดเพื่อประกอบรถยนต์ ออกแบบและผลิตอุปกรณ์แม่พิมพ์ และผลิตส่วนยานยนต์ให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำต่างๆ โดยบริษัทมีการประกอบธุรกิจในประเทศไทย, มาเลเซีย และจีน โดยบริษัทมีลูกค้าหลักได้แก่ AAT, Nissan, Toyota, Honda, Isuzu, GM และผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำอื่นๆ ทั้งนี้ บริษัทได้รับการยอมรับในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งยืนยันได้จากการได้รับตราสัญลักษณ์คุณภาพต่างๆ เช่น TS16949 และ ISO 14001

คุณเย็บ ซู ชวน (President & CEO, อาปิโก ไฮเทค) กล่าว “การร่วมทุนในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญของอาปิโกในการเติบโตและเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการมีพันธมิตรรายใหม่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้แก่กลุ่มบริษัท” ในทางเดียวกัน คุณทาเคโอะ ซาโต (President, ซูมิโน โคเกียว) ได้กล่าวเสริม “เรามีความมั่นใจว่าการร่วมทุนในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท และยังเป็นการเปิดโอกาสในการขยายความร่วมมือและการลงทุนประเทศไทยต่อไปในอนาคต”

จากซ้ายไปขวา:

คุณ มาซาฮิโร ซูมิโน (Director, ซูมิโน โคเกียว)

คุณ ทาเคโอะ ซาโต (President, ซูมิโน โคเกียว)

คุณ เย็บ ซู ชวน (President & CEO, อาปิโก ไฮเทค)

มาดาม เตียว ลี งอ (Executive Director, อาปิโก ไฮเทค)

บริษัท ซูมิโน โคเกียว จำกัด และ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ได้ทำการลงนามความร่วมมือจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ชื่อ บริษัท ซูมิโน อาปิโก (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อทำการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในประเทศไทย

บทความอื่นๆ

การประกาศความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2568 นายเย็บ ซู ชวน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีและเข้าร่วมงานแถลงข่าวในหัวข้อ “การประกาศความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5”

อาปิโก ไฮเทค ติดอันดับ 1 ใน 500 บริษัทชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยนิตยสาร Fortune ประจำปี 2568

บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ลำดับ 335 ในการจัดอันดับ Fortune Southeast Asia 500 ประจำปี 2568 ต่อเนื่องจากลำดับที่ 303 ในปี 2567 การจัดอันดับนี้คัดเลือกบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยพิจารณาจากรายได้และความโดดเด่นทางธุรกิจ